พระอาจารย์ บุญกู้ อนุวฑฺฒโน
  |  
 
Icon 06

พระอาจารย์ บุญกู้ อนุวฑฺฒโน วัดพระศรีมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร ทำไมจึงต้องศึกษาพระพุทธศาสนา




ทำไมจึงต้องศึกษาพระพุทธศาสนา
๙ สิงหาคม ๒๕๓๘ ทุกครั้งที่ทำผิดศีล คนที่ผิดศีลมักจะกระหยิ่มว่า ทำให้เขาเดือดร้อน.....แต่ไม่เข้า ใจว่า ทุกครั้งที่ไปเบียดเบียนเขานั้น ตนเองได้ทำร้ายจิตใจตนเองให้เสียหายไป ทุกครั้ง เป็นการทำร้ายตนเองโดยความชั่ว

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้นฯ
ขอความสุขความเจริญ จงมีแด่ท่านคณาจารย์ ท่านนิสิต นักศึกษา และสาธุชนผู้สนใจใคร่ ในพุทธธรรมทั้งหลาย
เรื่องของธรรมะเป็นของกลาง เป็นสิ่งที่ครอบงำทุกชีวิตของเราอยู่ เพียงแต่ว่าผู้หลงนั้น ไม่สามารถแยกถูกว่า ควรที่จะเว้นอะไร บำเพ็ญอะไร ด้วยบารมีของพระพุทธเจ้า พระองค์ได้บรรลุ โมกขธรรมแล้ว จึงชี้แจงแสดงธรรมให้ผู้สดับตรับฟังตั้งแต่สมัยก่อนโน้น ให้ทราบว่า ธรรมะคือสิ่งที่ เป็นธรรมชาติรอบตัวเราทั้งหลายนี้เอง
ธรรมชาตินั้นจะมีลักษณะเป็นส่วนที่เรียกว่า สว่าง มืด และสลัวๆ หรือจะเป็น ร้อน หนาว หรืออุ่นๆ หรือจะเป็นดำ เป็นขาว หรือว่าเทาๆ ก็มีลักษณะ ๓ อย่าง ครอบงำทุกชีวิต ทุกสิ่งทุกอย่าง ก็มีธรรมชาติเช่นนั้นแวดล้อมอยู่
เมื่อพระพุทธองค์เริ่มชี้แจงแสดงธรรม ท่านได้แสดงให้ทราบว่า จากธรรมชาตินั้นก็มาเป็น ธรรมบัญญัติ คือ ที่เป็นฝ่ายขาว ฝ่ายสว่าง ฝ่ายที่เป็นประโยชน์ เรียกว่า กุศลธรรม ส่วนที่เป็น ฝ่ายดำ ฝ่ายสกปรก หรือฝ่ายมืด ถือเป็นอกุศลธรรม ส่วนกลางคือ ที่ไม่ดีไม่ชั่ว ไม่มืดไม่สว่าง ไม่ ขาวไม่ดำ เป็นกลางๆ เรียกว่าเป็น อัพยากตธรรม
เมื่อพระพุทธองค์ทรงบัญญัติธรรมแล้ว ก็บัญญัติโดยธรรมชาติธรรมดานั้น แล้วท่าน แสดงว่า เรื่องของธรรมชาติธรรมดานั้น ไม่ว่าพระพุทธองค์จะมาตรัสรู้หรือไม่ก็ตาม ธรรมชาติ ธรรมดานี้ก็เป็นอยู่ มีอยู่อย่างนั้น เช่น เรื่องเกี่ยวกับกฏแห่งกรรม เรื่องเกี่ยวกับพระไตรลักษณ์ เรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติของสังขาร ไม่ว่าใครจะรู้หรือไม่รู้ มันก็เป็นธรรมชาติธรรมดา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เรียกว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือว่า ถ้าทำชั่วก็ต้องได้รับผลทุกข์ ทำดีก็ได้รับผลทางสุข เป็นธรรมชาติธรรมดาอยู่ ตลอดเวลา แต่ว่าผู้ที่ไม่ใส่ใจก็จะไม่รู้ เมื่อสิ่งใดถูกใจก็ทำไป ไม่ได้พิจารณา ว่าถูกต้องหรือเปล่า
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นลูกศิษย์ที่ไม่มีครู ทำไปตามใจ ซึ่งอาจจะถูกหรือผิดก็ได้ แต่ด้วยความ หลงของคนทั้งหลาย จึงมักจะผิดพลาดเสียมากกว่า
ถ้าเป็นลูกศิษย์มีครู ก็จะมีความรู้ความเข้าใจดียิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ
ฉะนั้นเรื่องของมนุษย์ จะว่าไปก็มีชีวิตเหมือนสรรพสัตว์ทั้งหลาย แต่ว่าเราต่างกับสัตว์ทั้ง หลาย ตรงที่ว่า เราเป็นลูกศิษย์มีครู มีโอกาสได้สดับตรับฟังหาความรู้เพิ่มเติม ทั้งฝึกฝนตนเอง ส่วนสัตว์ทั้งหลายนั้น เขาอบรมกันน้อย ไม่ค่อยจะมีการสั่งสอนกันจริงจัง สอนเพียงชั่วระยะหนึ่ง เพียงหากินได้ก็ปล่อยกันไป
ดังนั้น ในอดีตกาลเป็นล้านๆ ปีถัดมา มนุษย์นี้จะแตกต่างจากสัตว์มากในเรื่องของการ แต่งกาย ที่อยู่อาศัย อาหาร และหยูกยา นี่ก็เป็นเพราะว่ามนุษย์นั้นมีการศึกษาเพิ่มเติม
นอกจากในเรื่องของวิชาการ วิชาชีพทางทำมาหากินแล้ว ก็มีมนุษย์ที่มีปัญญา ที่เห็นว่า ถ้าไม่มีการจัดระเบียบเกี่ยวกับเรื่องคุณงามความดีแล้ว มนุษย์นั้นยิ่งเก่งก็ยิ่งเอาเปรียบกัน จะมีการ เบียดเบียนกันมาก จึงได้ศาสดาผู้รู้บัญญัติในส่วนที่เป็นศีลธรรม ระเบียบประเพณี และมีการออก กฏหมาย มีบัญญัติต่างๆ ขึ้นมาเพื่อช่วยให้มนุษย์มีกฏเกณฑ์ของความประพฤติดีขึ้นกว่าสมัยก่อน
ฉะนั้น เรื่องของพระพุทธศาสนาจึงไม่ใช่อื่นไกล เราก็ทวนมาตรงที่ว่า "พุทธะ" หมายถึง อะไร ?
เราล้วนแต่เคารพพระพุทธเจ้า นับถือพระพุทธศาสนา เราเองก็เป็นพุทธศาสนิกชน จึงควร ทราบว่า "พุทธะ" มีความหมายคือ "รู้" โดยการที่มนุษย์มีความรู้ขึ้นมาโดยลำดับ จากทางวิชาการ อาชีพ ธรรมะ นี้ มนุษย์จึงจะมีความเจริญ
คนที่มีการศึกษาทางโลกดี ก็เจริญทางทำมาหากิน ร่ำรวยได้เร็ว หรือเข้าใจมีความรู้ใน เรื่องรักษาสุขภาพ ก็ทำให้ร่างกายแข็งแรง อายุยืนได้นาน ยิ่งมีความสนใจเรื่องของศีลธรรม เรื่อง ของบาปปุญคุณโทษ รู้จักปรับปรุงตนเองในด้านจิตใจแล้ว ก็จะมีความเจริญทางด้านความสงบสุข ภายในสูงขึ้น
อันนี้เรียกว่า จาก "พุทธะ" ซึ่งมีความหมายว่า "รู้"
พระพุทธเจ้าของเรา หมายถึงเป็น "เจ้าผู้รู้"
พระพุทธศาสนา เป็น คำสอนของท่านผู้รู้
พุทธศาสนิกชน หมายถึง ผู้รู้ตามคำสอนของท่าน
ฉะนั้น พยายามทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้รู้ให้ดี
"รู้" นั้นมีหลายอย่าง พออธิบายกันได้สั้นๆ คือ รู้เรา-รู้เขา รู้เท่า-รู้ทัน รู้กัน-รู้แก้ รู้แพ้-รู้ชนะ-รู้อภัย อยากรู้ถึง "ใจ" ต้องนั่งภาวนา
ขึ้นต้นคือเรื่องของตัวเรานี้ เราก็ต้องมีความรู้ว่าเรานี้ได้มาเกิดในประเทศไหน ตระกูลใด มีฐานะ รูปร่าง สติปัญญา พื้นฐาน แค่ไหน ได้รับการศึกษาอบรมมาจากครูบาอาจารย์ใน ชั้นประถม มัธยม อุดม อย่างไร มีตำแหน่งอาชีพการงาน ฐานะเป็นอย่างไร แล้วก็มี ความเข้าใจใน เรื่องของเหตุการณ์ต่างๆ เรื่องของธรรมชาติภายนอก หรือเรื่องธรรมะภายใน แค่ไหน อย่างไร
อย่างน้อย การที่เรามีการศึกษานั้น จะต้องเข้าใจในเรื่องของตัวเองให้ดีพอ เมื่อมีความ เข้าใจตนเองแล้ว การขยายออกไปรู้คนอื่นก็ง่ายขึ้น ครงที่เรียกว่า เรื่องผู้อื่นนั้นก็มายึดอย่างเรา นี่แหละ แต่ว่าเขาจะมีชาติกำเนิด มีฐานะตระกูล การศึกษา ความรู้ความสามารถ ตำแหน่งหน้าที่ การงาน ฐานะอย่างไร เหล่านี้ก็จะมีการเข้าใจไปยังผู้อื่น
สรุปแล้ว เรื่องของคนเรา นอกจากเป็นเขาเป็นเรานั้น ทางโลกเขาจะแบ่งกันตามฐานะ ความรู้และอาชีพต่างๆ
แต่ในพระพุทธศาสนานั้น จะแบ่งในเรื่องเกี่ยวกับภาวะของจิตใจว่า เป็นพาลหรือ เป็นบัณฑิต
รู้เรา-รู้เขา ในเบื้องต้น ก็คือว่า เรานี้มีจิตใจอย่างไร จิตใจสงบหรือวุ่นวาย สะอาด หรือสกปรก จิตใจผ่องใสหรือเศร้าหมอง เหล่านี้ ก็มีการรู้ขึ้นมา แล้วก็มีการรู้ถึงคนอื่นว่า เขาเป็น พาลหรือเป็นบัณฑิต เป็นคนที่มีความเก่งกล้าสามารถขนาดไหน อันนี้เป็นพื้นฐานของการศึกษา จากภายนอก จากสิ่งแวดล้อม
จากรู้เรารู้เขาแล้ว ก็จะทำให้เรา รู้เท่าเอาไว้ป้องกัน รู้ทันเอาไว้แก้ไข
การศึกษาที่เราศึกษามาก็จะมีการรู้เท่าว่า เมื่อโตขึ้นจะต้องมีอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่ง เรามี การรู้เท่าว่าจะต้องทำงานอย่างไรก็จะหาความรู้ให้เหมาะกับวิชาที่จะต้องใช้ รู้เท่าว่าการอยู่ในโลกนี้ จะต้องมีฐานะให้ดี ก็จะทำให้รู้จักทำมาหากิน เก็บหอมรอมริบ อะไรต่างๆ เมื่อมีการรู้เท่าว่าเรื่อง ของคนนั้นมีทั้งพาลทั้งบัณฑิต เราก็ต้องเว้นการคบคนพาล รู้จักคบบัณฑิต
รู้เท่าเอาไว้ป้องกัน ป้องกันเหตุที่จะทำให้เราเสื่อมเสียเดือดร้อน ทุกข์ยาก และ รู้ทัน เอาไว้แก้ไข
ทั้งๆ ที่เรารู้เท่านี้ แต่บางทีก็ยังมีอันตรายเกิดขึ้นแก่ชีวิต ขาดทุนล้มละลายทางทรัพย์สิน ร่างกายอาจเจ็บป่วย และจิตใจวุ่นวาย เหล่านี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องรู้จักแก้ไข
ถ้าแก้ไขตนเองไม่ได้ ก็จะต้องรู้ว่าควรไปหาผู้ใดให้ช่วยเหลือ เป็นเรื่องฐานะการเงินก็ต้องไป หาญาติพี่น้อง หรือผู้ที่เขามีกำลังทรัพย์พอที่จะช่วยได้
ในเรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วย ควรจะเข้ารับการรักษาที่ไหน โรงพยาบาลใด จะได้ยาอะไรมา แก้ไข หรือจิตใจที่วุ่นวายนั้น เราควรปรึกษานักบวช นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ต่างๆ ให้ช่วย แก้ไขเพียงไรนี้ เป็นเรื่องของการรู้ทัน ทำให้เราแก้ไขข้อบกพร่องเสียหายเดือดร้อนของเราได้ดีขึ้น
โดยปรกติธรรมดาแล้ว คนเราย่อมต้องมีการติดต่อเกี่ยวข้องกัน ในการคบหาสมาคมกัน นั้น ย่อมมีทั้งการได้ การเสีย การแพ้ การชนะ ถ้าแพ้ก็ต้องแพ้ให้เขาสงสาร ชนะก็ให้เขายอมรับ
ตัวอย่างเช่น สุนัขที่มันสู้กัน ถ้ามันสู้ไม่ได้จริงๆ มันจะแสดงความยอมแพ้ โดยการทำหาง จุกก้นบ้าง นอนหมอบลงบ้าง ทำให้ตัวที่ชนะนั้นเห็นว่าอีกฝ่ายแพ้แล้ว ก็จะไม่ทำอันตรายมาก เมื่อยอมไปข้างหนึ่ง
การเกี่ยวข้องกับผู้อื่น ถ้าเราเห็นว่า บางครั้งบางคราวเราสู้เขาไม่ได้ เราก็แพ้ ทำให้เขา
ผ่อนปรนหรือสงสาร ก็ดีกว่าพวกขี้แพ้ชวนตี หรืออะไรต่างๆ หรือถ้าเผื่อเราจะชนะ ก็ชนะด้วย ความรู้ความสามารถ ด้วยความดีของเรา จนกระทั่งเขายอมรับ ไม่อิจฉา ไม่ต่อสู้ อันนี้ก็เป็น ส่วนหนึ่งที่ เรียกว่า รู้แพ้รู้ชนะ
สำหรับเรื่อง รู้อภัย นั้น ให้เข้าใจว่า ปุถุชนเรานั้นไม่มีใครสมบูรณ์หมด จะเก่งขนาดไหน ก็อาจมีการพลาดพลั้งได้ในบางสิ่งบางอย่าง ในชีวิตประจำวันนั้น อาจมีสิ่งที่ประมาทพลาดพลั้งได้
เมื่อเราเห็นว่าเราเองยังประมาทพลาดพลั้งได้ ผู้อื่นก็ในทำนองเดียวกัน ถ้าคิดได้อย่างนี้ เราก็จะไม่โกรธเคืองจนถึงขั้นพยาบาทจองเวร เขาเรียกว่า รู้จักให้อภัย รู้แพ้รู้ชนะรู้อภัย ในที่สุดก็ พยายามรู้มาถึงจิตใจของเจ้าของ
สถาบันการศึกษาทั้งหลาย ส่วนมากสอนให้เรียนออกนอกตัวเจ้าของ เรียนวิชาการ วิชา ชีพ เรียนวิชาต่างๆ มากมาย เมื่อเรียนออกไปข้างนอกตัวเองแล้ว ท่านว่า "การเรียนออก" หรือ "ส่งออก" นี่เป็นทางโลก จะทำให้มีอัตตาใหญ่ขึ้นในความที่เก่งกล้าสามารถต่างๆ
เมื่ออัตตาใหญ่ ปัญหาก็ย่อมใหญ่ตาม เพราะเมื่อตำแหน่งเราสูง ความสามารถเรามาก เราก็จะต้องได้ผลประโยชน์ให้มากขึ้น หรือเมื่ออัตตาเราใหญ่ ตำแหน่งเราโต ใครมาขวางเราก็ไม่ ยอม ใครมาขัดความประสงค์ของเรา เราก็จะโกรธใหญ่
จากการที่เรามีความต้องการมาก โลภมาก โกรธใหญ่ โลภใหญ่ ผลที่สุดความโลภ ความ โกรธ ก็ทำให้เราหลงใหญ่ เมื่ออัตตาใหญ่
ถ้าไม่มีหลักศาสนาไม่มีหลักธรรมมาช่วยบรรเทา คนพวกนี้จะทุกข์มาก เพราะเมื่ออัตตา ใหญ่แล้ว สมมุติก็มาก เป็นเงาตามตัว ทำให้ยึดติดสมมุติ
ผู้ที่ไม่รู้จักลดสมมุติ ไม่รู้จักลดอัตตานี้ ความสุขในใจจะมีได้อย่างไร เพราะอะไรก็ต้องว่าไป ตามสมมุติ ตามสังคม ตามความนิยม เลยไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง พวกนี้จะไม่รู้จักตัวเองที่แท้จริง
ในทางพระพุทธศาสนานั้น ท่านสอนให้เราทวนกระแสเข้ามา เรียนจากภายนอกเข้ามาสู่ ภายใน เรียนจากโลกทั้งโลกทวนมาเป็นทวีป เป็นประเทศ เป็นเมือง มาเป็นตำบล เป็นบ้านของ เรา เป็นตัวของเรา จะลดลงมากระทั่งมาศึกษากายกับใจของเรา
จะเห็นว่า เมื่อสิ่งที่ควรศึกษานั้นเล็กลงมาเล็กลงมา จนกระทั่งมาสู่ตัวเรา เทียบกับคนทั้ง โลกซึ่งมีประมาณ ๕ พันกว่าล้านคน เราเป็นหนึ่งในห้าพันกว่าล้านคนเท่านั้น เราจะใหญ่โตแค่ ไหน และเมื่อมาเทียบถึงดวงจิต ซึ่งเป็นของละเอียดจนกระทั่งมองไม่เห็น ก็จะยิ่งมองเห็นว่า ตัว เราที่ว่าใหญ่นั้น ใหญ่จริงหรือ?
อันนี้เขาเรียกว่าเป็นการเรียนทวนเข้ามา เพื่อเป็นการฝึกลดอัตตา ลดทิฎฐิมานะ ลดความ อยากความต้องการ แล้วก็ทำให้ลดสมมุติ ลดอะไรต่างๆ หลายอย่าง ทำให้เป็นผู้มีความเบาสบาย ในเรื่องของความเป็นอยู่ สรุปแล้ว "เมื่ออัตตาใหญ่ทุกข์เพิ่มมา เมื่ออัตตาเล็กทุกข์ลดลงมาตาม"
พระอริยเจ้าของเรานั้น เป็นผู้ที่ลดอัตตาได้แล้ว จนกระทั่งไม่มีอัตตา เมื่อไม่มีอัตตาแล้ว เวลาที่ได้ลาภหรือเสื่อมลาภ ท่านก็เฉยๆ ถึงคราวได้ยศ เสื่อมยศ ท่านก็ไม่วุ่นวาย เมื่อได้รับ คำสรรเสริญหรือถูกนินทา ท่านก็ไม่หวั่นไหว จะมีความสุขหรือมีความทุกข์ ท่านก็เฉยๆ อันนี้ เป็นความสุขที่หาได้ยาก
ส่วนปุถุชนนั้นจะมีความสุขในการมีความหวัง หวังที่จะได้อย่างนั้นอย่างนี้ อย่างที่เรียกว่า หนักเท่าไรก็ขนเข้าเรื่อยๆ
ส่วนพระอริยเจ้านั้น ท่านมีความสุขในการไม่หวัง ไม่หวังไม่ใช่ว่าไม่ทำอะไร ท่านบำเพ็ญ ในส่วนที่เป็นประโยชน์ที่พึงบำเพ็ญนั้นจนสมบูรณ์บริบูรณ์แล้ว ท่านก็เลยเห็นว่าไม่มีอะไรที่ต้อง หวังแล้ว กิจที่พึงทำก็สำเร็จแล้ว สมบูรณ์แล้ว
อย่างมีบทใน กรณียเมตตสูตร ว่า "กรณียมตฺถกุสเลน ยนฺตํ สนฺตธ ปทํ อภิสเมจฺจ" มี ความหมายว่า กรณียกิจอันใดที่พระอริยเจ้าผู้บรรลุสันติบทได้บำเพ็ญแล้ว กุลบุตรผู้ฉลาดประโยชน์ พึงบำเพ็ญกิจอันนั้น
จากข้อความในสูตรดังกล่าวแสดงว่า "การลดอัตตานั้น พระอริยเจ้าท่านมีความสุขโดยการ ไม่ต้องไปทำตามสมมุติภายนอก มีความสุขโดยจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น โดยการรู้เท่ารู้ทันว่า จิตอันใด ที่เป็นกุศลก็ได้บำเพ็ญมาเต็มที่แล้ว จนกระทั่งไม่หวั่นไหวต่อเรื่องของความเปลี่ยนแปลงในทางโลก ดังนั้นความสุขที่เกิดจากการไม่หวังอะไรจึงเป็นความสุขที่มั่นคง
ฉะนั้น พวกเราทั้งหลายที่กำลังศึกษาทั้งทางโลก และพยายามทวนกลับมาทางธรรม เพราะว่าทางโลกนั้นเรียนเท่าใดไม่มีวันจบ แม้ผู้ที่เก่งกล้าสามารถทางโลกขนาดไหนก็ตาม ในหลัก ธรรมท่านบอกว่าจะต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้แล้วรู้จบ เพราะว่าเมื่อมีความต้องการอันใด แม้เมื่อ ได้สมหวังแล้ว ความต้องการยิ่งเพิ่มขึ้น เรียกว่าวิ่งไล่ตามความอยากอยู่เรื่อย
ส่วนผู้ที่ได้ปฎิบัติธรรมตามหลักพุทธศาสนา จะรู้จักพอ รู้จักยับยั้ง รู้จักทวนกระแส รู้จักลด ความต้องการของตนเองลง ทั้งที่มีฐานะธรรมดา แต่ว่าเมื่อมีจิตใจดีก็มีความสุขใจ ยิ่งกว่าผู้มีฐานะ สูงกว่าแต่ไม่มีความพอ
นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ว่า การที่พระพุทธศาสนาสอนให้เข้าใจเรื่องจิตนั้น เพื่อให้เราเข้าใจว่า ความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ที่จิตที่พัฒนาดีแล้ว จิตที่มีการบำเพ็ญบุญกุศลต่างๆ
ที่กล่าวมานี้เป็นส่วนหนึ่งที่ว่า พระพุทธศาสนานั้นสอนให้เรามีความรู้ รู้ภายนอกตัวเรา เป็นเรื่องของการหาโลกียทรัพย์ ความรู้ภายในเป็นการหาอริยทรัพย์ ความรู้ภายในได้แก่ ความรู้ ในกองสังขาร เป็นต้น ครงที่เรียกว่า "สังขาร" นั้นเป็นของผสมระหว่างธาตุต่างๆ ตัวเรานี้ ประกอบด้วยธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ได้จากบิดามารดา แล้วก็เติบโตขึ้นมาโดยการเลี้ยงดูด้วย ปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค ทุกอย่างที่เราขวนขวายมา ส่วนใหญ่เป็น ปัจจัยภายนอกทั้งสิ้น
สำหรับในสังขารของเราเอง วันหนึ่งมันก็แปรปรวน คือ แปรปรวนเป็นแก่ เป็นเจ็บ เป็น ตาย ดังนี้แม้จะเลี้ยงดูปรนเปรอดีอย่างไร มันก็ต้องแตกดับ
ส่วนปัจจัยที่เราขวนขวายมากเกินไป คือปัจจัยภายนอกนั้น ต้องเสียเวลา เสียเรี่ยวแรง เสียเงินทอง ถ้าเราไม่รู้จักแบ่งเวลา แบ่งสติปัญญา เรี่ยวแรง หรือแบ่งเงินทองมาศึกษาจิตใจภาย ในแล้ว เราก็จะได้ประโยชน์เพียงระยะหนึ่งเท่านั้น เพราะไม่ว่าเราจะมียศ ตำแหน่ง ฐานะอะไรมัน ก็ต้องแก่ เจ็บ ตายเป็นของธรรมดา เป็นเงาตามตัว
ดังนั้นการศึกษาธรรมะ ก็คือการศึกษาเรื่อง "กายกับใจ" นั่นเอง เพราะฉะนั้นเมื่อเรา อยากรู้เห็นใจ จึงต้องนั่งภาวนา
การนั่งภาวนานั้น อย่างน้อยๆ เราจะได้พัฒนาความรู้ เรียกว่าเป็นภาวนาระดับต้น เช่น ความรู้ในเรื่องศีลธรรม เรื่องเกี่ยวกับจิตใจ เราต้องอาศัยความรู้ของพระพุทธเจ้าที่สืบทอดกันมา โดยพระอรหันต์ พระเถระต่างๆ สืบต่อกันมา มีพระไตรปิฏก มีการชี้แจงแสดงธรรมกันเรื่อยมา นี่ เป็นส่วนหนึ่งที่อาศัยการศึกษา แล้วเราก็มาคิดใคร่ครวญว่า เรื่องของการศึกษา เรื่องศีลธรรม เรื่องของบุญกุศล เรื่องจิตใจ นั้นมันคุ้มค่ากับที่เราเสียเวลาหรือเปล่า ก็ต้องมาคิดใคร่ครวญให้เห็น ว่าโลกนี้ อายุของคนเราเฉลี่ยโดยทั่วไปก็ไม่ค่อยเกินร้อยปี ถึงจะเกินร้อยปีก็มีน้อยเต็มที มันก็ร่นลง มา อาจจะ ๙๐-๘๐-๗๐ หรือ ๖๐ ปีนี้แหละ ร่นถอยลงไปเรื่อยๆ
เมื่อเราอายุมากเท่าไร หนทางเดินข้างหลังมาไกล หนทางข้างหน้ามันใกล้เข้าไป ใกล้เข้า ไปเรื่อยๆ ในที่สุดสังขารร่างกายนี้ก็จะถึงจุดจบสักวันหนึ่ง ซึ่งไม่รู้ว่าเร็วหรือช้า นี้แน่นอน
ดังนั้นเราจึงต้องศึกษาโดยการภาวนานี่แหละ อย่างน้อยๆ ถ้าทำจิตสงบได้ จะรู้สึกว่าจิตนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องของกายเสียแล้ว เมื่อจิตสงบโดยการภาวนา จะรู้ว่าร่างกายทั้งร่างที่เรากังวล เคย รู้สึกปวดเมื่อย หรือว่าต้องเป็นภาระนั้น ถ้าจิตรวมสงบจริง ความกังวลในเรื่องกายต่างๆ จะถูก ปล่อยวางลงไปเอง จนกระทั่งไม่รู้สึกว่าปวดเมื่อยอย่างไร ถ้าจิตรวมถึงขนาดแล้วจะรู้สึกว่าจิตนี้ ไม่ใช่กายแน่นอน
เมื่อมีความเข้าใจเรื่องจิต ถ้าเผื่อแก่กล้าขึ้นไปอีกก็จะรู้ว่า เรื่องของชีวิตทั้งหมดนั้น ไม่ ว่าจะเป็นเรื่องของสังขาร เรื่องของทรัพย์สิน เรื่องของญาติพี่น้อง เรื่องของครอบครัวก็ตาม ล้วนเป็นเรื่องภายนอก ซึ่งจะมาสัมผัสสัมพันธ์กันเพียงชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น เรียก "สังขาร" แปล ว่าเป็นของผสม แม้ตัวเราเอง โดยหลักของสังขาร วันหนึ่งก็ต้องแปรปรวนแตกดับ
การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นี้ ที่มองเห็นชัดๆ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย แต่ความจริง แล้ว วิทยาศาสตร์เขาก็พิสูจน์ได้ว่า ร่างกายนี้มีเซลเป็นส่วนละเอียด ส่วนย่อยที่สุด มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีเซลเก่าตายไป และเซลใหม่เกิดขึ้นเสมอ
ปัจจุบันนี้ เซลเก่าๆ ในร่างกายของเราก็หมดไป เซลใหม่ถูกสร้างขึ้นมา แต่สักวันหนึ่ง เมื่อร่างกายหมดสภาพ หมดลมหายใจแล้ว ก็จะยุติการเดินทางในโลกนี้
เมื่อเรานั่งภาวนาจนกระทั่งรู้ว่าจิตไม่ใช่กายนี้แล้ว เราก็สามารถที่จะพัฒนาจิตให้มีคุณภาพ ได้ เมื่อจิตดีขึ้น ถึงจะได้ทรัพย์สินเงินทอง ร่ำรวยก็จริง แต่ถ้าได้โดยไม่สมควร เราก็ไม่เอาเพราะ จะทำให้คุณภาพของจิตเสียไป
ผู้ที่เข้าใจในเรื่องของจิตจึงกล้าทำบุญทำทานได้ เพราะเข้าใจว่าทำแล้วไม่เสียข้าวเสียของ ไปเปล่า ได้จิตที่ดีขึ้น เป็นคนใจกรุณา ใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นคนใจเสียสละ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ตระ หนี่ถี่เหนียว
ส่วนคนที่ไม่เข้าใจเรื่องของจิต ก็หวังแต่ความร่ำรวยทางวัตถุ จนกระทั่งล้ำเส้นศีลธรรม ก็ ยังไม่รู้ จิตเสียหายก็ไม่เข้าใจ นี่เป็นเรื่องของทานกับเรื่องของจิต
ส่วนเรื่องของการเบียดเบียนนั้น ทุกครั้งที่ทำผิดศีล คนที่ผิดศีลมักจะกระหยิ่มว่า ทำให้ คนเขาเดือดร้อน ทำร้ายเขา คดโกงเขา ไปประทุษร้ายครอบครัวเขา ไปโกหกเขา เราได้ประโยชน์ เขาเสียประโยชน์ เราดื่มน้ำเมาแล้วเราสนุกสนานครึกครื้นรื่นเริง มองแต่ในเรื่องของสิ่งหยาบๆ แต่ไม่เข้าใจว่า ทุกครั้งที่ไปเบียดเบียนเขานั้น ตนเองได้ทำร้ายจิตใจตนเองให้เสียหายไปทุกครั้ง เป็นการทำร้ายตนเองโดยความชั่ว
ฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่เข้าใจเรื่องของจิต จึงสามารถผิดศีลได้ โดยความกระหยิ่มยินดีว่าเราได้ เปรียบผู้อื่น โกงเขาได้ ทำร้ายเขาได้ โกหกเขาได้ หรือแม้แต่ดื่มสุรายาเมา ก็นึกว่าตัวเอง "ได้" แต่ ความจริงเป็นการทำร้ายจิตใจตนเองให้มัวเมาหลงผิด เรียกว่าผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องของจิตใจจึงมักผิด ศีลมากบ้าง น้อยบ้าง เห็นเป็นเรื่องการได้กำไรในทางไม่ดี หาได้รู้ไม่ว่าทุกครั้งที่ทำผิดศีล นั้นเป็นการทำลายจิตใจตนเอง ทั้งนี้เพราะว่าในส่วน หลง กับ รู้ มันเป็นของคู่กัน
เมื่อเขามีปัญญาน้อย ไม่เคยศึกษา ไม่เคยใคร่ครวญ ไม่เคยภาวนาแล้ว เขาเห็นแต่ของ หยาบๆ ในเรื่องของชีวิต ร่างกาย วัตถุ เงินทอง ตำแหน่งต่างๆ ก็เลยไม่ใส่ใจในเรื่องของการ ศึกษาศีลธรรม ไม่ศึกษาเรื่องบุญกุศล ไม่ศึกษาเรื่องภาวนา เมื่อหลงมาอย่างไร ก็หลงไปอย่างนั้น
นี่ก็เป็นเรื่องของปุถุชน ซึ่งเขาไม่มีเวลาเหลือสำหรับการศึกษาธรรมะ ไม่สนใจในเรื่อง ศาสนา เขาก็อาจจะมีความสุขความเจริญไประยะหนึ่ง เช่น คนที่ชอบบันเทิง ก็จะร้องรำทำเพลง สนุกสนานเฮฮา ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่ควรจะรู้ด้วยว่าวันหนึ่งเราจะต้องชรา ร่างกายทรุดโทรม จนกระทั่งป่วยเจ็บ ถ้าเกิดป่วยหนัก จนกระทั่งล้มตาย จะยังร้องรำทำเพลงอยู่ได้ไหม จะรื่นเริงครื้น เครงได้ไหม ผู้ที่เห็นแต่เรื่องของความเพลิดเพลินอยู่ในโลกนี้ เขาเรียกว่า "ติดสุข"
คนติดสุขนั้น เวลาทุกข์ต้องทุกข์แรง ทุกข์มาก อย่างคนสะสมความร่ำรวยมากนั้น อาจจะ เรียกว่าได้ความสุขที่ตนยังเห็น ต้องการอะไรก็ได้มา แต่เวลาต้องพลัดพรากจากทรัพย์สินที่ได้หาไว้ เช่นต้องล้มตายแล้ว ยิ่งมีความสุขจากการหาทรัพย์สินได้เท่าไหร่ เมื่อต้องพลัดพรากก็มีความทุกข์ มากเท่านั้น ได้ของรักของประทับใจอย่างไร มีความยินดีพอใจเพียงไร เวลาพลัดพรากจากคนรัก หรือของที่ชอบใจ ก็มีความเสียใจมากเท่านั้น
ตามหลักพระพุทธศาสนาจึงว่า ให้รู้จักปรับปรุงตนเอง ทางโลกียทรัพย์ก็ให้รู้จักประมาณ ให้เลือกแบ่งเวลามาหาอริยทรัพย์ ในเรื่องบุญกุศลบ้าง
ฉะนั้น ในเรื่องการศึกษาวิชาอาชีพ จึงทำให้เรามีความเจริญในทางโลก ส่วนการศึกษา ทางธรรมะจะทำให้เรางอกงามทางจิตใจ
จิตใจนี้เป็นประธานของชีวิต ถ้าคนเราพัฒนาจิตยังไม่ดีพอ ก็ต้องอาศัยปัจจัยภายนอก ใน ส่วนปัจจัยหยาบๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงก็คือ อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่ ยารักษาโรค นี่เป็นปัจจัย พื้นฐาน คนที่ยังปรับปรุงจิตใจไม่ดีพอมักจะยึดติดกับสิ่งที่มาเสริม มาปรุงให้สวยให้งาม เช่นติดรูป สวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสนุ่มนวล แม้ในเรื่องเกี่ยวกับเครื่องแต่งกาย ก็ต้องการ ได้เครื่องแต่งกายที่งาม ทำให้ต้องลงทุนมาก หากเป็นเรื่องของเสียง ถ้าต้องการเสียงเพราะๆ เรา ก็ต้องไปฟังคอนเสิร์ท ไปฟังดนตรี ซึ่งต้องเสียเงินแพงขึ้น ต้องการน้ำหอมดีๆ ราคาก็ต้องสูง ข้าว บ้านที่ไม่อร่อย ต้องไปรับประทานตามภัตตาคาร ก็ต้องเสียค่าอาหารที่อร่อยแพงขึ้น แม้แต่เรื่องที่ อยู่อาศัย จะเป็นที่หลับที่นอน หรือเครื่องใช้ไม้สอยก็ต้องประณีต ต้องมีความสบายมากขึ้น สิ่ง เหล่านี้ทำให้ต้องเสียทรัพย์สินเงินทอง เสียเรี่ยวแรง เสียสติปัญญาหลายอย่างในการขวยขวายใน สิ่งที่เรียกว่าเป็นโลกียทรัพย์ จัดว่าเป็นอามิสสุข คือความสุขที่อิงด้วยสิ่งภายนอก ที่คนธรรมดา สามัญจะต้องขวนขวาย ร่ำรวยเพื่ออะไร เพื่อว่าจะได้สิ่งที่ต้องการมาอย่างที่ตนเองชอบใจอย่างใด อย่างหนึ่ง
ด้วยการศึกษาทางพุทธศาสนานี้แหละ ทำให้ทราบว่าสิ่งภายนอกเหล่านั้นทำให้คนเราเกิด ยึดมั่นถือมั่น และขยายความต้องการมากขึ้นไป จนกระทั่งใช้เวลาทั้งหมดเพื่อการประกอบอาชีพ การงาน จนไม่มีเวลาพักผ่อน ทำให้สุขภาพเสียหายก็ยังไม่รู้สึกตัว
หรือบางคนมุ่งแต่บำรุงสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง จนไม่มีเวลาเหลือสำหรับรักษาจิตใจ ไม่ มีเวลาสนใจในเรื่องของศาสนา ในเรื่องของบุญกุศล หรือการภาวนา แล้วลงท้าย ส่วนที่ตนเอง ขวนขวายแทบล้มแทบตาย เพื่อจะได้ทรัพย์สินเงินทองข้าวของต่างๆ มาบำรุงร่างกาย ลงท้ายร่าง กายก็ต้องแก่ เจ็บ ตาย แล้วทรัพย์สินทั้งหลายที่ได้มาจะมีความหมายอะไร แม้ญาติพี่น้อง สังคม ภายนอก ก็หมดความหมายตามไปด้วย
เมื่อตนเองไม่เคยศึกษาธรรมะในพุทธศาสนา ไม่เข้าใจเรื่องของจิต ไม่เคยรู้เลยว่าจิตเป็น นักเดินทางเอก ซึ่งเดินทางมาจากอดีตอันไกลแสนไกล ปัจจุบันนี้ก็มาอาศัยร่างนี้เป็นเครื่องใช้ แล้ว ร่างนี้ก็จะให้ใช้ชั่วระยะเวลาหนึ่งไม่เกินร้อยปีเป็นพื้น แล้วก็จะเดินทางออกจากร่างนี้ไปยังปรโลก ต่อไป
ดังนั้น ผู้ที่เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า จึงมีการขวนขวายตามกำลังของตนเองว่า ส่วนที่ เป็นบาปเราก็จะเว้น ส่วนที่เป็นบุญก็บำเพ็ญ ส่วนที่เป็นเรื่องของจิตใจก็ศึกษาและภาวนา
ถ้าเป็นชาวพุทธที่เข้าใจว่าอย่างน้อยวัยต้นก็มุ่งทางการศึกษาหาความ รู้ โตขึ้นจะได้ประกอบ อาชีพการงาน วัยกลางต้องขวนขวายในการทำอาชีพให้มีฐานะมั่นคงเลี้ยงดูครอบครัวต่างๆ มา ถึงวัยปลายควรเข้าใจว่ามีเวลาเหลือในโลกนี้น้อยลงๆ แล้ว ควรจะขวนขวายเรื่องทางบุญกุศล ซึ่ง ส่วนใหญ่ก็จะเห็นกันว่า การแสดงธรรมนั้นมักจะมีผู้สูงอายุมีความสนใจมากกว่าผู้อายุน้อย แต่ ความจริงแล้ว ผู้ที่ยังอยู่ในวัยเยาว์ถ้าสนใจพุทธศาสนาแล้ว ในชีวิตนี้เขาจะได้กำไรมาก เรียกว่า โลกียทรัพย์ก็จะมั่นคงมั่งคั่ง เพราะว่ามีศีลธรรมดี ก็จะไม่ใช้จ่ายในทางที่เหลวไหล หรือไร้ประโยชน์ จะใช้ในทางที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิต ทั้งบุญกุศล ทั้งความเป็นอยู่
เมื่อเขามีพื้นฐานทางศีลธรรมดี จิตใจดี มีกุศลดี อนาคตก็จะเป็นไปเพื่อความเจริญโดยถ่าย เดียว และก็หวังได้ว่ากว่าจะแก่กว่าจะตายนั้น ผู้ที่เริ่มต้นมีการศึกษาธรรม ปฎิบัติธรรมตั้งแต่อายุวัย เยาว์นั้น จะมีโอกาสสร้างกุศลได้มาก บั้นปลายชีวิตก็จะมีความสุขสูง ดังที่ว่า มองไปข้างหน้าก็มี หวัง มองไปข้างหลังก็มีความสุข
อันนี้เป็นส่วนที่พุทธศาสนาเราทวนเข้ามาหาตนเองว่า เมื่อปัจจุบันนี้เราทำตนให้ดีที่สุด แล้ว ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องอนาคต อดีตก็เป็นสิ่งที่ผ่านมาแล้ว เราไม่สามารถแก้ไขได้ อนาคตเป็นสิ่ง ที่มายังไม่ถึง เราไปวิตกกังวลก็ช่วยอะไรไม่ได้
ฉะนั้น หลักพุทธศาสนาสำหรับนักภาวนาแล้ว จะถือ "ปัจจุบัน" เป็นสิ่งสำคัญที่สุด การอยู่กับ "ปัจจุบัน" นั้นต้องมี "สติปัญญา" ด้วย ทุกครั้งที่คิด ที่พูด ที่ทำนั้น ทางพุทธ ศาสนาบอกว่า :
"ถ้าจะคิด อย่าดีแต่คิด จงคิดแต่ดี
ถ้าจะพูด ก็อย่าดีแต่พูด จงพูดแต่ดี
ถ้าจะทำ ก็อย่าดีแต่ทำ จงทำแต่ดี"
ด้วยสติปัญญาที่รักษาเราก็จะไม่ค่อยพลาดพลั้งเสียหาย แต่ความรู้ในพุทธศาสนานั้น เป็น การรู้เข้ามาที่ตัวเรา ที่จิตใจ จะทำให้เข้าใจลึกซึ้งขึ้น เพราะว่าเป้าหมายเล็กลงมาเล็กลงมา เราก็ สามารถที่จะรู้แจ้งเห็นจริงขึ้นมาสักวันหนึ่ง แต่ถ้าไม่สนใจเรียนเข้ามาภายในกายใจ ส่งออกนอกตัว อย่างเดียวก็เป็น "โลก" จะมีความรู้กว้างขวางเท่าไร เป้าหมายก็ยังใหญ่
การรู้กว้างนั้น รู้เท่าไรก็รู้ไม่ชัด แต่ว่าการรู้แคบลงมาลงมานั้น ทำให้รู้ลึกรู้ชัด และรู้แจ้ง
จะรู้แจ้งเห็นจริงได้นั้นจะต้องเป็นนักภาวนา จะทำให้เข้าใจเรื่องจิตว่าจิตเป็นนักเดินทางไป สู่สุคติ ทุคติ เวียนว่ายตายเกิดไม่มีที่สิ้นสุด
แม้ตัวเราเองก็เหมือนกัน ท่านบอกว่า ใช่ว่าเราจะไปรู้ชะตากรรมของเราว่าจะขึ้นสวรรค์ หรือลงนรกเมื่อตายไปแล้วก็หาไม่ ก็แล้วแต่บุญแต่กรรมจะพาไป ถ้าเป็นนักภาวนาในพุทธศาสนา แล้ว เราจะรู้ความจริงว่า เวลานี้เราจะอยู่ในภพใดภูมิใด โดยใช้หลักของศีลธรรมในพุทธศาสนามา เป็นเครื่องวัด คือ
ถ้าผู้ใดผิดศีลข้อ ๑ มากๆ เหี้ยมโหดมาก แม้ตัวยังเป็นคนอยู่ แต่ว่าจิตเริ่มสกปรกมากแล้ว เขามีศัพท์เรียกว่า มนุสฺสนิรยโก คือตัวเป็นมนุษย์แต่ใจเป็นสัตว์นรก
ถ้าผิดศีลข้อ ๒ มีการคดโกง เอาเปรียบผู้อื่น ชอบเบียดเบียนทรัพย์สินผู้อื่นเป็นอาจิณนั้น เรียกว่าจิตใจของเขาเริ่มเป็นเปรตแล้ว มีศัพท์เรียกว่า มนุสฺสเปโต ตัวเป็นคนธรรมดาแต่ใจเป็น เปรตแล้ว
ถ้าผิดศีลข้อ ๓ เป็นคนมักมากในเรื่องการผิดทางเพศนี้ เขาเรียกว่าใจเริ่มเป็นเดรัจฉาน แล้ว ไม่มีขอบเขตประเพณีของศีลธรรม ตัวเป็นคนแต่ใจเป็นเดรัจฉาน เรียกว่า มนุสฺสดิรจฺฉาโน มนุษย์เดรัจฉาน
ถ้าผิดศีลข้อ ๔ เป็นคนโกหกพร่ำเพรื่อ ชอบพูดไม่มีความจริง พูดหลอกลวงอยู่เสมอ เขา เปรียบว่าเหมือนกับเป็นปีศาจชนิดหนึ่งคืออสุรกาย เรียกว่า มนุสฺสอสุรโก ตัวเป็นคนแต่ใจเป็น อสุรกาย
ถ้าดื่มสุรายาเมา จนเป็นคนที่มีโรคพิษสุราเรื้อรัง ขี้เมา ตัวเป็นคนแต่ว่าจิตเริ่มวิกลจริต แล้ว เรียกว่า มนุสฺสวิกลจิตฺโต คือมนุษย์วิกลจริต
ที่กล่าวมานี้คือ ตัวเป็นคน ร่างกายเป็นคน เพราะยังไม่ตาย แต่จิตเขาเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ตามการละเมิดศีล
ผุ้ใดมีศีล ๕ ครบถ้วน เรียกว่า มนุสฺสมนุสฺโส ตัวเป็นมนุษย์ ใจก็เป็นมนุษย์ จิตใจสูงสม กับที่เป็นมนุษย์ คือเป็นมนุษย์ทั้งตัวทั้งใจ
ถ้ามีบุญมากกว่าบาป มี หิริโอตตัปปะ มีอริยทรัพย์ มีบุญกุศลและคุณธรรมต่างๆ เช่น กตัญญูกตเวที เป็นต้น เขาเรียกว่า มนุสฺสเทโว คือใจเป็นเทพเจ้า ตัวเป็นคนธรรมดา แต่ใจเป็น เทพเจ้า
ถ้าสูงกว่านั้น มีสมาธิที่บำเพ็ญอยู่เสมอจนสามารถเข้าฌานได้ มีฌาน มีพรหมวิหารเป็น เครื่องอยู่ ตัวยังเป็นมนุษย์ แต่เขาเรียก มนุสฺสพรหฺโม คือจิตเป็นพรหม แต่ตัวยังเป็นมนุษย์อยู่
ถ้าสูงกว่านี้ คือเป็นผู้สามารถละสักกายทิฎฐิ วิจิกิจฉา สีลพัดปรามาส อย่างนี้ตัวยังเป็น มนุษย์อยู่ แต่ว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นในกายว่าเป็นตัวเป็นตน ไม่สงสัยในเรื่องกฏแห่งกรรม ไม่สงสัยใน เรื่องบาปบุญคุณโทษ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอยู่ในเรื่องของพิธีรีตอง หรือเรื่องความขลังอะไรจริงจัง เรียก ว่า ละสังโยชน์ทั้ง ๓ ได้ จัดได้ว่า เริ่มต้นเป็น มนุสฺสอริยโก แล้ว คือเป็นพระอริยเจ้าสูงสุด ก็เป็น พระอรหันต์ เรียกว่าไม่มีการยึดมั่นถือมั่น ไม่มีกิเลสเหลืออยู่เลย
จากที่กล่าวมาแล้ว ผู้ที่เป็นนักภาวนานั้นสามารถที่จะวินิจฉัยตนเองได้ว่า เรานี้มีสภาวะที่ แท้จริงทางจิตใจเป็นอย่างไร เมื่อเราเป็นผู้ไม่ประมาท เรามีศีล ๕ เป็นพื้นฐาน อย่างที่พวกเรา กระทำในตอนต้นว่า ไม่ต้องมารับศีลจากพระอีกแล้ว เพราะมีศีลประจำตัวแล้ว อย่างน้อยเราก็มีพื้น ฐานว่าเป็นมนุษย์ทั้งกายทั้งใจ
ร่างกายที่เป็นมนุษย์นั้น เมื่อถึงกาลแตกทำลายล้มไปเมื่อไรแล้ว ดวงจิตที่เป็นอย่างไร ก็ ต้องไปสู่ภพนั้นภูมินั้น ดังนั้นความรู้เรื่องจิตจะทำให้เรารู้แน่ชัดว่า เรื่องของจิตไม่ใช่กาย จิตนั้น เปลี่ยนแปลงไปตามกฏแห่งกรรม เมื่อทำชั่ว จิตก็สกปรก เศร้าหมอง แยกประเภทไปเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน หรือปีศาจ ผีบ้าไป ถ้าชั่วเมื่อร่างกายสลายก็ต้องไปสู่ภูมิที่เรียกว่า ทุคติ มี เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย สัตว์นรก เป็นต้น
สำหรับพวกเรา ซึ่งมีศีล ๕ เป็นพื้นฐาน อย่างไรเสียถ้าตายไป ด้วยคุณธรรมอันนี้อย่าง น้อยก็ต้องเกิดเป็นมนุษย์ และเป็นมนุษย์ชั้นดีขึ้น และถ้าหากเราบำเพ็ญกุศลไม่หยุดยั้ง เราก็จะมี บุญที่แก่กล้าขึ้น จนหวังได้ว่าเราจะเป็นเทพเจ้าในร่างมนุษย์ เรียกว่า มนุสฺสเทโว
ถ้าผู้ใดสนใจการภาวนา พยายามแบ่งเวลาภาวนาให้มาก จิตสงบจนถึงระดับมีสมาธิชั้นสูง อย่างที่ท่านบอกว่ามีฌานเป็นเครื่องอยู่แล้ว ถ้ารักษาฌานไม่ให้เสื่อมได้แล้วละก็ จิตของเราก็เป็น พรหม มีหวังว่าถ้าร่างกายสลายก็ต้องไปอยู่ชั้นพรหมแล้ว
ถ้าสุดยอดจริง ก็ขอให้สูงขึ้นจนกระทั่งตัดสังโยชน์ได้ตั้งแต่ ๓ ขึ้นไป จนหมดสังโยชน์ เรา ก็จะถึงซึ่งมรรคผลนิพพาน เป็นการถึงพระพุทธเจ้าโดยการปฎิบัติ ถึงพระธรรมโดยการที่ว่า ละชั่ว ทำดี มีจิตผ่องใส จนถึงขั้นบริสุทธิ์ แล้วเราเองก็สามารถเป็นพระอริยสงฆ์ได้เอง โดยการที่ได้ บำเพ็ญบุญกุศลจนกระทั่งเป็นพระอริยเจ้าขึ้นมาได้ในปัจจุบันนี้
ฉะนั้น เรื่องพระพุทธศาสนานี้จึงเป็นของสากล ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นชาติไหน ลัทธิ ศาสนาอะไร เมื่อทำชั่วจิตใจก็ต้องมัวหมองเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นนักบวช หรือจะเป็น ประชาชน จะเป็นคนใหญ่คนโต คนเล็ก คนน้อย ถ้าทำชั่วก็ต้องจิตใจมัวหมองเหมือนกันหมด ถ้า ทำดีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนยากจน คนบ้านนอก หรือจะเป็นคนชาติไหน ตระกูลใดก็ตามที ถ้าทำดีจิต ก็ต้องผ่องใสไป เพียงแต่พื้นฐานเก่าอาจจะร่ำรวยไม่เต็มที่ ทำงานไม่สูงส่งหรืออะไรก็ตาม แต่ว่าถ้า เป็นคนดีก็ดีที่จิต เป็นคนชั่วก็ชั่วที่ใจ แล้วกฏแห่งกรรมนั้นเป็นสิ่งที่แสดงได้โดยธรรมชาติธรรมดาว่า ถ้าทำชั่วย่อมได้ชั่ว ทำดีได้ดี
สำหรับคนสามัญที่สับสน มักจะเห็นคนชั่วที่เขาร่ำรวยขึ้น ได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น กลาย เป็นว่า ทำชั่วได้ดี สับสนดังนี้ก็มี
หรือว่าเราทำดีมานาน มีศีลมีทาน แต่ทำไมถึงทำให้เรายังไม่ร่ำรวย ยังไม่ได้ตำแหน่งสูง ก็นึกว่าเราทำดี ทำไมถึงยังไม่ได้ดี
อันนี้ เมื่อเราไปเทียบกับสมมติภายนอกแล้วทำให้สับสนได้ จึงควรจะมาศึกษาเรื่องภาวนา จะทำให้รู้ว่า ทำดีได้ดีที่จิต ถ้าหากคิดดีจิตก็ผ่องใสทันที พูดดีจิตก็ผ่องใสทันที ทำดีจิตก็ผ่องใสทันที เป็นไปตามส่วน แล้วแต่ว่าเราคิด พูด ทำ นั้นมากหรือน้อยในเรื่องดี ต้องมีความผ่องใสในจิตทันที
แล้วเรื่องทำชั่วได้ชั่วก็เหมือนกัน ไม่ว่าเขาจะเป็นอะไร ตำแหน่งไหน ถ้าเขาคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว จิตเขาต้องเศร้าหมองทันที แล้วแต่มากหรือน้อย
ที่สับสนสำหรับคนสามัญคือว่า คนที่เขาทำชั่วนั้น เขาอาจจะมี "เสบียงบุญ" อาจมีเสบียง สมบัติเก่าอยู่ ถึงจะทำชั่วมันก็ยังมีของดีค้ำประกันไว้ อาจเปรียบได้ว่า เรือเขาใหญ่ แม้เรือเขาจะ เริ่มรั่วแล้วก็ตาม แต่การรั่วนั้นมันไม่ได้ทำให้เรือใหญ่จมลงทีเดียว แต่ถ้าประมาท ไม่ช้าไม่นาน ถ้ารั่วมากกว่านั้นก็อาจจะจมก็ได้
หรือที่ว่าเราทำดีแต่ว่ายังไม่ได้ผลดีชัดเจน ก็เหมือนปลูกต้นไม้ ไม่ใช่ว่าปลูกปุ๊ปปั๊บจะได้ต้น โต ออกดอกออกผลได้ทันที ก็ต้องเป็นไปตามกาลตามสมัย
การเชื่อกฏแห่งกรรมนั้น จะต้องเป็นนักภาวนาถึงจะยอมรับว่า เรื่องกฏแห่งกรรมนั้นเป็น ของจริง ที่เป็นปัจจุบันด้านจิต เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว เราจึงไม่ต้องอิจฉาคนที่เขาทำชั่วได้ดี เพียงแต่สงสารว่า เออ! เขายังหลงอยู่ ถ้าถึงขั้นเรือรั่วมากขึ้นจนล่ม ก็น่าเสียดายว่าเรือเขาใหญ่ไม่ น่าจะรั่ว ไม่น่าจะล่มจะพังเลย ถ้าเกิดเราทำดีแล้วไม่ได้ดี ก็จะมีความยินดีว่า อย่างน้อยพืชแห่ง ความดีเราได้ปลูกลงแล้ว ก็คงจะเติบโตให้ดอกให้ผลแก่เราไม่เร็วก็ช้า และสังขารร่างกายนี้ก็มีอายุ จำกัด ถ้าเราไม่เชื่อเรื่องกฏแห่งวัฎสงสารแล้ว จะสับสนเหมือนกันว่า เขาชั่วจนตายก็ยังรุ่งเรือง ร่ำรวยอยู่ คนทำดีจนตายยังไม่เห็นร่ำรวยรุ่งเรือง
ดังนั้น จึงขอฝากไว้ให้ท่านทั้งหลายได้นำไปคิดพิจารณา และหันมาเอาใจใส่ และสนใจ ศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนา เพื่อยกระดับจิตของท่าน เพื่อความสุขความเจริญของตัวท่านเอง

เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้

อายุ วณฺโน สุขํ พลํ


Online: 6 Visits: 9,579,361 Today: 1,163 PageView/Month: 45,943