พระอาจารย์ บุญกู้ อนุวฑฺฒโน
  |  
 

พระครูพุทธิสารสุนทร

(บุญกู้ อนุวฑฺฒโน)

วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพมหานคร

 

 

การบูชาพระรัตนตรัย

พระรัตนตรัย เปรียบได้กับแก้ว ๓ ประการ คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์ จัดเป็นที่พึ่งที่ระลึกอย่างสูงสุดของพุทธศาสนิกชนทั่วไป

ในการบูชาพระรัตนตรัยนั้น โดยปกติจะมีพระพุทธรูปเป็นประธาน ประดิษฐานไว้ในสถาน ที่สูง จะเป็นแท่นใหญ่หรือบนโต๊ะหมู่ก็ได้

พระพุทธองค์ทรงมีพระคุณอเนกประการ พอสรุปได้ ๓ อย่าง คือ พระปัญญาคุณ พระ บริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งนายช่างผู้เข้าใจประดิษฐ์ ได้สร้างพระพุทธคุณทั้ง ๓ ประการนี้ แฝงไว้ที่องค์พระปฎิมากรทั้งหลาย เป็นต้นว่า

พระเศียรสูง หรือ ยอดพระเกศแหลม หมายถึงการมีปัญญาสูง หรือฉลาดหลักแหลม พระกรรณยาว แสดงถึงหูหนัก ฟังแล้วต้องไตร่ตรองให้เข้าใจเหตุผลก่อนเชื่อ จัดเป็นพระปัญญาคุณ

พระเนตรสำรวม ไม่มีการเหลียวซ้ายแลขวา หรือจ้องหน้าผู้ใดตรงๆ และพระหัตถ์สำรวม เช่น พระปางสมาธิหรือปางมารวิชัยที่นิยมสร้างกันเป็นส่วนมาก มีลักษณะของการสำรวมอินทรีย์ และ ศีล แสดงถึงพระบริสุทธิคุณ

พระพักตร์อิ่ม พระโอษฐ์แย้มยิ้ม มีลักษณะของคนใจดี มีเมตตาปรานี แล้วยังทำดอกบัว เป็นสัญลักษณ์ของแท่นที่ประทับอีกด้วย ดอกบัวหมายถึงดวงใจ ที่เทิดทูนพระพุทธองค์ด้วยความ รักเคารพอย่างยิ่ง บ่งบอกพระกรุณาธิคุณ

เครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัย ซึ่งท่านโบราณาจารย์ได้จัดทำถวายขึ้นนั้น มี ๓ อย่าง คือ ธูป เทียน และ ดอกไม้ ล้วนมีความหมายที่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง

เราจุดธูป เพื่อมุ่งบูชาพระพุทธคุณ ด้วยเหตุผลที่ว่า

ธูปให้ความหอม ซึ่งปัจจุบันนี้พระพุทธคุณก็ยังคงความหอมหวนอยู่เสมอ แม้พระพุทธ องค์เสด็จดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานนานมาแล้วก็ตาม

ธูป นิยมจุด ๓ ดอก บ่งถึงการบูชาพระพุทธคุณโดยย่อ ๓ ประการ ดังกล่าวแล้ว

เทียน จุดให้ความสว่าง มุ่งบูชาพระธรรมคุณ ด้วยเหตุผลที่ว่า ดวงประทีปส่องหน ทางให้คนเดินไปได้โดยสะดวกฉันใด ธรรมะก็เป็นเครื่องช่วยชี้ทางชีวิต ให้ก้าวหน้าไปอย่างสบาย ฉันนั้น

"หนทางสว่างด้วยแสงไฟ จิตใจสว่างด้วยแสงธรรม"

เทียน นิยมจุด ๒ เล่ม เพราะพระธรรมคำสั่งสอนของพระบรมศาสดามี ๒ ประเภท คือ พระวินัยหรือศีล เป็นประเภทคำสั่ง มีโทษแก่ผู้ละเมิด อีกอย่างคือ พระธรรม เป็นประเภทคำสอน ผู้ใดศึกษาบำเพ็ญตามได้เท่าใด ก็จักเจริญขึ้นไปตามส่วนของธรรมปฎิบัตินั้นๆ

ดอกไม้ให้ความงาม มุ่งบูชาพระสังฆคุณ ด้วยเหตุผลที่ว่า ดอกไม้ที่อยู่ในแจกันหรือ บนพานซึ่งจัดประดับดีแล้ว ย่อมงามกว่าส่วนที่อยู่บนต้นไม้ต่างๆ ซึ่งยังเกะกะไม่มีระเบียบฉันใด พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค ที่ท่านปฎิบัติดีแล้วในพระธรรมวินัย ก็ย่อมดีงามกว่าปุถุชนคน นอกพระธรรมวินัยฉันนั้น

ลักษณะและความหมายของการแสดงความเคารพบูชา

ลักษณะการแสดงความเคารพ ของคนแต่ละชาติแต่ละเหล่า ย่อมมีความแตกต่างกัน อยู่บ้าง แต่มักมีความหมายทำนองเดียวกัน คือแสดงความปรารถนาดี ไมตรีจิต ปราศจากเจตนา ร้าย และการนอบน้อมถ่อมตัวของผู้แสดงความเคารพเป็นเกณฑ์ ตัวอย่างเช่น

ทหาร ปกติเป็นผู้มีอาวุธและใช้อาวุธด้วยมือขวา การแสดงความเคารพใช้วันทยหัตถ์ ยก มือขวาขึ้นแตะขอบหมวก ให้เห็นว่าไร้อาวุธในมือ ถ้าใช้วันทยาวุธจะเปลี่ยนมาถือปืนยาวด้วยมือซ้าย ตั้งกระบอกปืนขึ้นฟ้า มือขวาทอดลงต่ำไปที่พานท้ายปืน มิใช่ที่ไกปืน เป็นลักษณะไม่ทำร้าย สำหรับนายทหารที่วันทยาวุธด้วยกระบี่ ก็จับกระบี่พุ่งปลายลงพื้น แสดงถึงการไม่ต่อสู่

การต้อนรับทักทาย ด้วยการยื่นมือขวาจับซึ่งกันและกัน ก็มีความหมายไม่มุ่งร้าย และให้ความร่วมมือด้วยดี

การโค้งคำนับ แสดงถึงการยกย่องและน้อมรับความสำคัญของผู้ที่ตนให้ความเคารพ

การยกมือไหว้ คือยกมือพนมขึ้นพร้อมกับน้อมศีรษะลงบรรจบ มือพนมมีความหมาย ถึงดวงใจ ศีรษะที่น้อมลงแสดงถึงความนอบน้อม ทั้งสองอย่างผสมกันก็เท่ากับให้ความนอบน้อม ทั้งกายและใจ

การกราบไหว้ ซึ่งต้องนั่งคุกเข่า แสดงถึงการเก็บเท้าและเข่าที่อาจใช้ทำร้ายกันได้ มือ ก็พนม ศีรษะก็ก้มน้อมลงต่ำสุดถึงพื้น จัดเป็นลักษณะการนอบน้อมที่สมบูรณ์ทั้งกายและใจเป็น อย่างยิ่ง

นอกจากความหมายของอาการกิริยา "นอบน้อม" ดังกล่าวแล้ว ยังมีความหมายของ ถ้อยคำอีกด้วย ดังนี้

"นอบ" หมายถึง ยอม ถ่อมตัวลง

"น้อม" หมายถึง โน้มลงมา

ปกติเรามีการกราบไหว้พระรัตนตรัย ๓ ครั้ง

การกราบครั้งแรก เป็นการนอบน้อมต่อพระพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ

นอบ คือยอมรับว่า พระพุทธเจ้าทรงมีคุณธรรมเลิศกว่าเรา โดยการศึกษาให้ทราบพระ พุทธคุณ อย่างน้อย ๓ ประการ เช่น พระกรุณาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระปัญญาคุณ

น้อม ให้พยายามโน้มคุณของพระพุทธองค์ลงมาปฎิบัติตาม เช่น แสดงความกรุณาด้วย การบำเพ็ญทาน แสวงความบริสุทธิ์ด้วยตั้งใจรักษาศีล เสริมปัญญาด้วยเจริญภาวนา

การกราบครั้งที่สอง เป็นการนอบน้อมต่อพระธรรม ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ดี แล้ว

นอบ คือยอมรับ พระธรรมเป็นขุมความรู้เรื่องขีวิตที่สมบูรณ์ยิ่งกว่าความรู้ของเรา เช่น เรื่องของทุกข์และการดับทุกข์ จนถึงเรื่องของมรรค ผล นิพพาน

น้อม ให้พยายามโน้มคุณของพระธรรมลงมาปฎิบัติตาม มีการละชั่ว ทำความดี และหมั่น ชำระจิตให้ผ่องแผ้วอยู่เสมอ

การกราบครั้งที่สาม เป็นการนอบน้อมต่อพระสงฆ์ สาวกของพระพุทธเจ้าซึ่งปฎิบัติ ดีแล้ว

นอบ คือยอมรับว่า พระสงฆ์เป็นผู้ที่ทรงศีลาจารวัตรงดงามยิ่งกว่าเรา โดยเห็นว่า ท่าน เป็นผู้ปฎิบัติดี ปฎิบัติตรง ปฎิบัติสมควร และปฎิบัติชอบ

น้อม ให้พยายามโน้มคุณของพระสงฆ์ลงมาปฎิบัติตาม ด้วยการหมั่นทำความดี ปฎิบัติ ตามพระธรรมวินัย ไม่มีอคติต่อผู้ใด และ บำเพ็ญตามอริยมรรคเรื่อยไป

ในการกราบไหว้ เรามักกล่าวคำ หรือ ระลึกว่า

"อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ภควา, พุทฺธํ ภควนฺตํ อภิวาเทมิ." (พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ไกลจาก กิเลส ตรัสรู้เองชอบ, ข้าพเจ้าอภิวาทกราบไหว้พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น)

"สวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม, ธมฺมํ นมสฺสามิ." (พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว, ข้าพเจ้านมัสการกราบไหว้พระธรรมนั้น)

"สุปฎิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ, สงฺฆํ นมามิ." (พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคที่ท่าน ปฎิบัติดีแล้ว, ข้าพเจ้านอบน้อมกราบไหว้พระสงฆ์นั้น)

แต่ตอนเงยขึ้น ไม่ค่อยมีผู้กล่าวหรือระลึกอะไรเลย จึงขอเสนอแนะคำกล่าวอธิษฐานหรือ ระลึก เพื่อเพิ่มพลังชีวิต แต่ละครั้งดังนี้

ขณะเงยศีรษะขึ้นจากการกราบพระพุทธ ใช้คำว่า "พุทฺธปูชา มหาเตชวนฺโต" (ด้วยการ บูชาพระพุทธเจ้า ขอจงเป็นเหตุนำมาซึ่งเดชานุภาพอันยิ่งใหญ่)

ขณะเงยศีรษะขึ้นจากการกราบพระธรรม ใช้คำว่า "ธมฺมปูชา มหปฺปญฺโญ" (ด้วยการ บูชาพระธรรม ขอจงเป็นเหตุนำมาซึ่งสติปัญญาอันยิ่งใหญ่)

ขณะเงยศีรษะขึ้นจากการกราบพระสงฆ์ ใช้คำว่า "สงฺฆปูชา มหาโภคาวโห" (ด้วยการ บูชาพระสงฆ์ ขอจงเป็นเหตุนำมาซึ่งโภคทรัพย์สมบัติอันยิ่งใหญ่)

อานิสงส์ตามธรรมชาติที่ปรากฏให้เห็นได้ เช่น

รวงข้าวคราวดกน้อม รวงลง

รวงลีบชูรวงตรง สู่ฟ้า

เฉกปราชญ์ฉลาดยง ย่อมถ่อม ตนนา

คนโง่ชอบโอ่อ้า อวดอ้างฤทธี ฯ

"อ่อนน้อมเป็นยอดไม้ ใหญ่กระด้างเป็นแค่โคนต้น"

"น้ำย่อมไหลลงสู่ที่ต่ำ คุณงามความดีทั้งน้ำใจไมตรี ย่อมไหลลงสู่ผู้อ่อนน้อมถ่อมตัว"

ทั้งยังมีอานิสงส์ตามพระพุทธภาษิต ที่แสดงไว้ว่า "ธรรม ๔ ประการ มี อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่บุคคล ผู้มีปกติกราบไหว้ อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิตย์"

นอกจากนี้ ในตำนานทางพระพุทธศาสนา กล่าวถึงผู้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าจำนวนไม่น้อย ที่ นิยมเดินประทักษิณ ๓ รอบ ต่อพระพุทธเจ้า ทั้งตอนไปเฝ้าและตอนลากลับ เป็นการแสดงความ เคารพ อีกวิธีหนึ่ง

โบราณาจารย์ของเราจึงได้นำวิธีการนี้มาใช้บ้าง ในโอกาสสำคัญๆ อย่างในการแห่นาคเข้า โบสถ์เพื่อบรรพชาอุปสมบท และเดินเวียนรอบพระสถูป พระเจดีย์ ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา เป็นต้น

ส่วนธูป เทียน ดอกไม้ จัดเป็นเครื่องสักการะต่อสิ่งที่เคารพบูชา มีพระรัตนตรัย เป็นต้น เราก็ถือมาเป็นเครื่องบูชาในโอกาสนี้ด้วย สำหรับเทียนที่จุดแล้วให้แสงสว่างมากกว่าธูป เป็นจุดเด่น ยิ่งกว่าดอกไม้ จึงนิยมเรียกสั้นๆ ว่า "เวียนเทียน"

สำหรับเหตุผลเรื่อง ประทักษิณ ส่วนเบื้องขวา หรือการเวียนขวานั้น ก็เป็นไปตาม ธรรมชาติ ที่ตามปกติคนทั่วไปจะถนัดในการใช้มือหรือเท้าข้างขวามากกว่าข้างซ้าย แสดงถึงพลัง ด้านขวามีมากกว่าด้านซ้าย การทำอะไรไปทางด้านขวา จึงหมายถึงการมุ่งทางอำนาจฝ่ายสูง ความ เข้มแข็ง ดีงาม ยิ่งกว่าทางด้านซ้าย อันจัดเป็นอำนาจฝ่ายต่ำ อ่อนแอ เลวทรามกว่า

นาฬิกาที่คนประดิษฐ์ขึ้นทุกเรือนในโลก ก็สร้างให้เข็มชี้หมุนวนไปทางขวา จุกเกลียว ฝา เกลียวที่ใช้ปิดขวด ปิดกระป๋องต่างๆ และจำพวกน๊อต สกรู ตะปูควง ฯลฯ ต่างๆ เหล่านี้ ถ้าจะ ปิด จะไขเข้าให้แน่น จะต้องหมุนเวียนไปทางขวา ถ้าจะให้คลายออก ก็หมุนเวียนไปทางซ้ายเป็น ส่วนใหญ่

ดังนั้น การเวียนเทียนรอบพระสถูป พระเจดีย์ พระปฎิมากร ด้วยความเคารพ จึงนิยม เวียนขวา เรียกว่าทักขิณาวัฎ เพื่อเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น อันเป็น การตรงข้ามกับการเวียนศพ รอบเมรุ รอบเชิงตะกอน ก่อนนำขึ้นเผา นิยมเวียนซ้าย เรียกว่า อุตราวัฎ เป็นการแสดงถึงการวาย หรือ คลายออกของชีวิต

การเคารพ นอบน้อม จัดเป็นบุญข้อหนึ่งชื่อ "อปจายนมัย" เป็นบทเริ่มต้นของพุทธ ศาสนิกชน ในพิธีทางพระพุทธศาสนาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำวัตรสวดมนต์ธรรมดาของส่วนตัว หรือ ส่วนรวม และในการประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลน้อยใหญ่.

 

*********ที่มาฺฺboard.palungjit


Online: 9 Visits: 9,579,843 Today: 1,645 PageView/Month: 46,440