พระอาจารย์ บุญกู้ อนุวฑฺฒโน
  |  
 

พระครูพุทธิสารสุนทร(บุญกู้ อนุวฑฺฒโน)

วัดพระศรีมหาธาตุ  บางเขน   กทม.


ธรรมบรรยาย

การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา แต่ทว่าทางพระพุทธศาสนาได้สอนให้เข้าใจถึงเหตุปัจจัยนั้นๆ อันสามารถทำให้ผู้มีศรัทธาวิริยะประพฤติปฏิบัติตาม ย่อมจะได้รับอานิสงส์ตามควรแก่เหตุของตนๆยิ่งขึ้นตลอดไป

เริ่มต้นจากการเกิด ซึ่งหลายคนมักจะกล่าวว่า “ใครเลยจะเลือกเกิดเองได้” ส่วนความเป็นจริงตามกฎแห่งกรรม ซึ่งพระพุทธองค์ทรงรู้แจ้งและทรงแสดงไว้เป็นหลักใหญ่ของพระพุทธศาสนา เช่น อริยสัจ ๔ เป็นต้น ทุกชีวิตที่ถือกำเนิดขึ้นมาในโลกนี้หรือโลกไหนๆ ย่อมเป็นไปตามกรรมคือการกระทำของเจ้าของชีวิตนั้นเอง โดยมีผลที่ปรากฎขึ้นให้ประจักษ์อย่างน้อย ๓ ประการ

ประการหนึ่ง ได้แก่ถิ่นฐานบ้านเรือน และฐานะชาติตระกูล อีกประการหนึ่ง ได้แก่รูปร่าง สุขภาพอนามัย และอายุขัย และประการสุดท้าย คือ สติปัญญา ความรู้ความสามารถ ความประพฤติ ศีลธรรม และสภาวะจิตใจ

ผู้ที่เกิดมาในถิ่นกำเนิดที่กันดารขัดสน ในครอบครัวที่ยากจนข้นแค้น อัตภาพร่างกายก็ไม่ค่อยสมประกอบ โรคภัยรบกวนบ่อย มีอุบัติภัยเกิดขึ้นเสมอและอายุสั้น ทั้งสภาพจิตใจก็มีความโง่เขลาเบาความ มีความเหลวไหลเลวทรามเป็นที่ตั้ง ย่อมแสดงว่าผู้เกิดมานั้นมีผลบาปในชาติภพก่อนๆ เป็นเศษกรรมสืบเนื่องติดตามมาให้
ปรากฎ

ส่วนผู้ที่เกิดมาในภูมิลำเนา ในบ้านเมืองและครอบครัวที่ดี มั่งมีศรีสุข อัตภาพรูปร่างก็งดงามแข็งแรง ไม่ค่อยมีโรคภัย อายุมั่นขวัญยืน ทั้งมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ความรู้ทางโลกก็มีความสามารถ ทางธรรมก็มีจิตใจดีงาม ความประพฤติชอบตั้งแต่เล็ก ย่อมแสดงว่าผู้นั้น มีบุญในปางก่อนติดตามมามากให้ประจักษ์

เมื่อได้ถือกำเนิดเกิดขึ้นมาแล้ว ความแก่ก็ติดตามตลอดมา ตอนแรกเป็นการแก่ขึ้น เติบโตจากสภาพทารกเป็นเด็กน้อย เป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นผู้หลักผู้ใหญ่วัยฉกรรจ์ จากนั้นแล้วก็เริ่มมีการแก่ลง ร่างกายชำรุดทรุดโทรม หมดกำลังวังชา เป็นคนเฒ่าชราให้เห็นชัด ในส่วนเรื่องความแก่นั้น ก็มีอยู่ ๒ ประการ คือ การแก่เปรี้ยวและแก่หวาน

ผู้แก่เปรี้ยว คือประเภทที่เกิดมาแล้ว มักมีนิสัยชั่วเป็นพื้นฐาน ชอบก่อกรรมทำบาปหยาบช้าต่างๆ เช่นเป็นคนขี้โกรธ ขี้โลภ ขี้หลง ขี้ปด ขี้เมา ขี้เกียจ ขี้คร้าน ขี้อิจฉาริษยา เป็นต้น บางคนเกิดมามีนิสัยดีแต่เผลอไปคบคนพาล ซึ่งขักพาไปทางอบายมุข รักสนุกเลยต้องเจอทุกข์เข้าสนัดในบั้นปลาย

ผู้แก่หวาน มักมีนิสัยดีเป็นเจ้าเรือน อยู่ในโอวาทของผู้หลักผู้ใหญ่ เชื่อฟังคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ มีศรัทธาในพระศาสนา หมั่นส่งเสริมตนเองไปในแนวทางที่ดีทั้งทางโลกทางธรรม เช่นมีความรู้ดี มีความสามารถดี หน้าที่ดี มีอาชีพและรายได้ดี ทั้งยังมีความประพฤติดี ศีลธรรมดี และมีบุญกุศลดี เป็นต้น

จากความแก่ คนเราก็ย่อมมีความเจ็บไข้ได้ป่วย ติดตามมารบกวน มากบ้างน้อยบ้าง เบาบ้างหนักบ้าง ความป่วยก็มี ๒ ประเภท คือป่วยทางกายและป่วยทางกรรม

ผู้ป่วยทางกาย เป็นโรคเป็นภัยเป็นครั้งคราว เนื่องจากรับอาหารผิดสำแดง เจอลมฟ้าอากาศผิดปกติ ติดเชื้อโรคจากผู้อื่น อวัยวะบางส่วนเกิดพิการแปรปรวน หรือมีอุบัติภัยบางประการเกิดขึ้น นอกจากพยายามรักษาอนามัยตนเองเท่าที่จะสามารถแล้ว ก็ต้องไปพึ่งหมอพึ่งยา พึ่งการรักษาพยาบาลจากผู้ที่เป็นแพทย์เป็นพยาบาลโดยตรง ก็ย่อมมีอาการทุเลาหายเร็วขึ้น

ส่วนผู้ป่วยทางกรรม ซึ่งมีวิบากความชั่วในอดีตตามมา มีพวกเจ้ากรรมนายเวรที่เคยเบียดเบียนเขาไว้ในปางก่อน ตามมาจองเวร ทำให้เกิดทุกขเวทนาหลายรูปแบบ แม้มีอาการไข้ อาการโรคต่างๆปรากฎขึ้น แต่นายแพทย์กลับหาสาเหตุไม่ค่อยได้ มีเครื่องมือทันสมัยตรวจ ก็วินิจฉัยไม่ถูก บางทีให้การรักษาไปแล้ว น่าจะหายหรือทุเลาลง ก็กลับมีอาการป่วยอย่างอื่นกำเริบแปรปรวนต่อไปอีก อย่างนี้ควรหาผู้มีความรู้ทางญาณ ประกอบพิธีการขอขมาลาโทษตามที่ควรแก่กรณีย์ ทางด้านธรรมะ ท่านให้บำเพ็ญกุศลตามสติกำลัง เช่นทำบุญให้ทานต่อพระเจ้าพระสงฆ์ บริจาคทรัพย์บำรุงโรงพยาบาล ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากตามกาลสมัย ถ่ายชีวิตสัตว์ที่จะถูกฆ่าแกงให้รอดชีวิต ทั้งตั้งใจรักษาศีล หมั่นไหว้พระสวดมนต์ภาวนา บางทีถึงกับบนตัวออกบวช แล้วพยายามอุทิศส่วนกุศลผลบุญที่ทำไว้ ใช้หนี้เวรให้แก่ผู้เป็นเจ้ากรรมนายเวรแต่อดีตของตน ทั้งที่ระลึกได้ก็ดี ระลึกไม่ได้ก็ดี ย่อมจะดีกว่าไม่สนใจบำเพ็ญ เพราะมีส่วนช่วยให้มีอาการทุเลา หายจากโรคร้ายได้อย่างน่าอัศจรรย์ก็เคยมี

ผลสุดท้ายปลายทางของชีวิต ไม่ว่าใครๆ ผู้นั้นจะมีฤทธิ์ มีเดช มีเวท มียศประการใด ลงท้ายก็ต้องถึงแก่ความตายด้วยกันหมด ไม่มีใครเหลือหลอ ต่างแต่ว่าจะไปช้า ไปเร็ว ไปร้าย ไปดี เท่านั้น

ผู้ไปร้าย หมายถึงตายไปสู่ทุคติภูมิ มีกำเนิดเดรัจฉาน เปรต อสุรกาย และไปเป็นสัตว์นรก ภพใดภูมิหนึ่ง ด้วยความชั่วช้าลามกด้วยประการต่างๆ ที่ผู้ตายได้ประมาทล่วงอำนาจของกิเลสตัณหา ก่อกรรมทำเข็ญไว้ในขณะยังมีชีวิตอยู่ จะโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือโดยถูกความเย้ายวนของโลกามิสทั้งหลายเข้าไปติดบ่วงก็ตาม บางรายอาจสังเกตได้จากทีท่า หน้าตาของผู้กำลังจะตาย มีอาการทุรนทุรายผิดปกติธรรมดา นัยน์ตาเถลือกถลน ขุ่นมัว ใบหน้าบิดเบี้ยวเหยเก ประหนึ่งว่าได้เห็นยมพบาลถือดาบมาประหัศประหารก็ปานกัน แม้คนชั่วบางรายไม่มีอาการร้ายปรากฎให้เห็นก็ตาม แต่ถ้าสภาวะจิตใจของเขาเศร้าหมองด้วยบาปอกุศล ทางพระแสดงยืนยันไว้ว่า ผู้นั้นจะต้องไปสู่ทุคติอย่างแน่นอน

ผู้ไปดี เมื่อล่วงลับดับขันธ์แล้ว วิญญาณของผู้นั้นได้ไปสู่สุคติในปรโลก อาจได้ไปถือกำเนิดเป็นมนุษย์มีระดับชั้นดียิ่งขึ้น ไปเป็นเทพบุตร เทพธิดาในสรวงสวรรค์ ไปบังเกิดเป็นพระพรหมในพรหมโลก ถ้าถึงชั้นสูงสุดก็ถึงซึ่งพระนิพพาน อันเป็นสภาวะที่หมดกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวง ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป สำหรับปรากฎการภายนอกนั้น ย่อมจะมีอินทรีย์สงบระงับด้วยดี มีใบหน้าผ่องใส นัยน์ตาแสดงสันติสุขให้เห็นเป็นที่ประทับใจแก่ผู้ใกล้ชิดเป็นอย่างยิ่ง ส่วนสาเหตุที่ไปดีมีสุคติเป็นอันหวัง ก็เพราะมีจิตใจผ่องใสด้วยกุศลผลบุญน้อยใหญ่ ที่ผู้มีศรัทธาเชื่อกฎแห่งกรรมได้สั่งสมไว้เสมอๆนั่นเอง

การที่ปุถุชนคนส่วนใหญ่ ไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติทางจิตภาวนาให้เห็นประจักษ์ใจ เพียงได้อ่านได้ฟังเพียงบางส่วนของพระสูตรพระธรรมบางบทบางตอน ซึ่งพระพุทธองค์ไม่ทรงพยา-กรณ์เรื่องก่อนเกิดและหลังตายของบุคคลบางกรณีย์ ก็ด้วยเหตุผลเฉพาะเรื่องเฉพาะราย ทำให้บางคนเกิดมิจฉาทิฎฐิ เข้าใจเอาเองว่าสรรพชีวิตทั้งหลายไม่เคยมีเรื่องก่อนเกิด ไม่ได้มีเรื่องราวหลังตาย ไม่มีชาติก่อนชาติหน้า ไม่มีนรก ไม่มีสวรรค์ ทั้งๆที่มีพระพุทธประวัติคืนวันตรัสรู้ ทรงระลึกชาติก่อนๆได้เป็นอเนก ทรงรู้คติชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งชาติก่อนและชาติต่อไป ทั้งมีพระสูตรคำสอนในเรื่องเหล่านี้มากมายเป็นต้น

ความคิดเห็นเช่นนี้ย่อมเป็นอันตรายต่อตนเองและส่วนรวมเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้ผู้ไม่มีความเชื่อในเรื่องนี้ มักมีความโน้มเอียงไปในทางเห็นแก่ตัว ขาดหิริโอตตัปปะ ไม่อยากรักษาศีลประพฤติธรรม จึงกล้าก่อกรรมทำเข็ญได้ต่างๆนาๆ เพราะคิดว่าเมื่อไม่มีใครจับได้ไล่ทัน คงไม่มีโทษทัณฑ์ ตายแล้วก็แล้วกันไป จึงทำให้คนดีๆ คนมีศีลธรรมถูกย่ำยีบีทาจากคนชั่วๆ อยู่เสมอ จึงควรช่วยกันศึกษาและบำเพ็ญภาวนาให้รู้แจ้งประจักษ์ แล้วช่วยกันเผยแผ่ความเป็นจริงตามกฎแห่งกรรม และกฎแห่งวัฏฏสงสารให้เป็นที่ยอมรับกันมากกว่านี้ สังคมส่วนรวมของเราก็น่าจะมีความสุขความเจริญยิ่งขึ้นต่อไป

แก่แต่หวาน ด้วยการ ไม่ประมาท

เจ็บป่วยอาจ บำราศง่าย ด้วยใจแข็ง

ตายเป็นตาย ไม่หวั่น มั่นบุญแรง

พรากจากแหล่ง แห่งใด ย่อมไปดี ฯ

ฉะนั้น โปรดอย่าลืมว่า ทุกครั้งที่เห็นคนแก่คนชรา งกๆ เงิ่นๆ ปานใดก็ตาม จงทราบว่า สักวันหนึ่ง เราจะต้องได้เป็นคนแก่ชราอย่างเขา เมื่อใดที่ได้ไปเยี่ยมผู้ป่วย จงสำนึกเถิดว่าไม่เร็วก็ช้า เราจะต้องเจ็บป่วย ให้เขามาเยี่ยมเราบ้าง และทุกๆครั้งที่ได้ไปร่วมงานศพ ขอจงเข้าใจน้อมระลึกให้ได้ว่า

เมื่อก่อนนั้น ท่านก็เป็น เช่นเรานี้

ไม่ช้าที เราจะเป็น เช่นท่านได้

อันสังขาร นั้นไม่เที่ยง สุดเลี่ยงตาย

ผลสุดท้าย กลายเป็นศพ จบชีวี

แต่ละปี เดือนวัน หมั่นขวนขวาย

ก่อคุณไว้ ก่อบุญไว้ ขยายศักดิ์ศรี

รู้จักสร้าง รู้จักทำ แต่กรรมดี

อยู่โลกนี้ ไปโลกหน้า ผาสุกเอย ฯ



วัดธัมมธโร วัด คือสถานที่ทางศาสนา โดยปรกติมีโบสถ์ วิหาร และที่อยู่ของสงฆ์ หรือนักบวช เป็นต้น
วัด ได้แก่การสอบขนาดหรือปริมาณของสิ่งต่างๆ เช่นส่วนยาว ส่วนกว้าง ส่วนสูง หรือความรู้ เป็นต้น
วัด หมายถึงตวัดขึ้น หรือตวัดไปโดยแรง
ธัมมโร แปลว่าผู้ทรงไว้ซึ่งธรรม
มีปริศนาธรรมโบราณอยู่บทหนึ่ง ซึ่งมีความว่า
สองคนพามานี่ สี่คนช่วยกันหาม
สามคนร่วมแห่ คนหนึ่งนั่งแคร่
สองคนพาไปอื่น ถ้าจะขึ้นให้สูง ต้องรู้จักเสียสละ
ขอให้ลองคิดหาคำเฉลยของเราเองดูก่อน ถ้ามีเหตุผลที่ดีพอก็ถือว่าใช้ได้ ส่วนต่อไปนี้ จะขอให้คำตอบอ้างอิงหลักธรรมมาให้พิจารณาตามสมควร
ตามหลักพระพุทธศาสนานั้น ผลย่อมเกิดจากเหตุ มีทั้งเหตุใกล้ที่เข้าใจง่าย และเหตุไกลที่เข้าใจยาก โดยเฉพาะคือเรื่องความเป็นมาและเป็นไปของชีวิต ด้วยคนเรานั้นมีอะไรๆ แตกต่างกันอยู่มิใช่น้อย ทั้งถิ่นฐานกำเนิด ตระกูลของบิดามารดา ลักษณะรูปร่าง สติปัญญาและนิสัยใจคอ ตั้งแต่เกิดมาทีเดียว แม้พี่น้องท้องเดียวกันแท้ๆ ก็ยังมีส่วนแตกต่างกันไปหลายประการ
ผู้ที่เกิดมาในถิ่นที่เจริญ พ่อแม่ร่ำรวย รูปร่างแข็งแรงงดงาม สติปัญญาเฉลียวฉลาด และนิสัยใจคอดี ย่อมแสดงว่าได้สั่งสมบุญกุศลในปางก่อนไว้ มากกว่าบาปอกุศล จัดได้ว่านายบุญเป็นผู้นำมาเกิด
ส่วนผู้ที่ถือกำเนิดในดินแดนแร้นแค้น พ่อแม่ยากจน รูปลักษณะไม่ค่อยสมประกอบ สติปัญญาทึบ และนิสัยใจคอร้าย ย่อมแสดงว่ามีบาปอกุศลเป็นเจ้าเรือนติดตามมา กล่าวได้ว่านายบาปเป็นผู้นำมาเกิด
“สองคนพามานี่” จึงหมายถึงนายบุญนายบาป นำมาเกิดในโลกนี้
สำหรับชีวิตของคนเราทั้งหลายที่เกิดมาแล้วนั้น จะมีรูปร่างสูงต่ำดำขาว แตกต่างกันไปอย่างไรก็ตามที ย่อมจะมีธาตุทั้งสี่ คือธาตุดิน อันมีสภาวะแข้นแข็ง ธาตุน้ำ สภาวะเหลว ธาตุลม สภาวะที่ทำให้สั่นไหวเคลื่อนที่ และเตโชธาตุ สภาวะที่ทำให้ร้อน ทรงสภาวะของตนๆ ร่วมกันเป็นรูปร่าง เป็นฐานค้ำจุนชีวิต ให้ดำรงคงอยู่ การเจ็บไข้ได้ป่วยที่บังเกิดขึ้น ก็เป็นเพราะความแปรปรวนของธาตุ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งหมด ซึ่งจะต้องอาศัยหยูกยาและนายแพทย์ช่วยรักษา
“สี่คนช่วยหาม” ก็บ่งถึงธาตุทั้งสี่นี้เอง
อันคนเรานั้น ไม่ว่าจะชั่วดีมีจนต่างกันออกไป แต่ย่อมจะมีสิ่งที่เป็นสมบัติ หรือเครื่องอาศัยของตนๆ ที่เหมือนกันอยู่สามประการ ซึ่งได้แก่ กาย วาจา ใจ
บางคนใช้กาย วาจา ใจ ไปทางโลก มุ่งผลประโยชน์หาวัตถุปัจจัย และหาความสุขทางโลกีย์เป็นสำคัญ บางท่านก็เข้าใจใช้ไปทางธรรม ตั้งใจแสวงหาความสุขความเจริญด้านจิตใจเป็นสำคัญ
“สามคนร่วมแห่” ก็ได้แก่ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ของแต่ละคนนั้นเอง
ว่าตามหลักการ ผู้เป็นเสมียนพนักงาน ต้องทำตามคำสั่งของผู้จัดการ ผู้เป็นทหารต้องเชื่อฟังผู้บังคับบัญชา ตามหลักธรรมก็แสดงว่า การคิด การพูดจา และการกระทำประการใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับจิตใจของตนเป็นเกณฑ์ ถ้าจิตใจดีก็สั่งให้คิดดี พูดดี ทำดี ถ้าใจร้ายก็สั่งให้คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่วลงไป
“คนหนึ่งนั่งแคร่” จึงได้แก่จิตใจ ซึ่งเป็นผู้บงการการกระทำต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวงของคนเรา
เรื่องของชีวิต มีความไม่เหมือนกันตั้งแต่แรกเกิดมา ขณะมีชีวิตอยู่ก็ยังมีการกระทำที่แตกต่างกันออกไปอีก ดีบ้าง ชั่วบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ บั้นปลายของชีวิตที่แตกดับลงไป จะมีผลเป็นสูญเท่ากันได้หรือ
พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า เพราะกิเลสตัณหา บุญและบาป ที่ยังคงค้างคาเหลืออยู่ในจิตใจ พามาเกิด และเมื่อถึงคราวที่สังขารร่างกายแตกดับลงไป ถ้าจิตใจยังไม่หมดกิเลสตัณหา คนเราจะต้องไปเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสารต่อไปอีก
“สองคนพาไปอื่น” ก็ได้แก่บุญและบาปเจ้าเก่านั้นเอง นายบุญพาไปสู่สุคติ นายบาปพาไปสู่ทุคติ เป็นไปตามกฎแห่งกรรมของตนๆ
พระพุทธศาสนามีคำสั่งสอนหลายประการ ในเรื่องความเสียสละ เพื่อความสุขความเจริญ ที่สูงส่งยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ
การสละทรัพย์และวัตถุปัจจัยเป็นทาน สละเรี่ยวแรงช่วยเหลือเป็นเวยยาวัจจะ สละความเบียดเบียนเป็นศีล สละนิวรณ์เป็นสมาธิ สละความหลงเป็นปัญญา และสละกิเลสตัณหาทั้งปวงจึงเป็นวิมุติ ได้ถึงซึ่งพระนิพพาน อันเป็นอมตสุขตลอดไป
“ถ้าจะขึ้นให้สูง ต้องรู้จักเสียสละ” ดังกล่าวมานี้แล
“วัด” ที่หมายถึงศาสนสถาน และหมายถึงการประเมินผลนั้น โปรดเข้าใจพิจารณาตามความเป็นมาของ “วัดธัมมธโร” ในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้ด้วย
“ศาสนสถาน” ตระหง่าน กว้างขวาง ใหญ่โตยิ่งขึ้น
“ศาสนวัตถุ” อุดมสมบูรณ์มากกว่าแต่ก่อน
“ศาสนบุคคล” ทั้งบรรพชิต อุบาสก อุบาสิกา ตลอดทายกทายิกาเพิ่มขึ้น
“ศาสนพิธี” มีการทำวัตร สวดมนต์ และภาวนา ประจำวันมิได้ขาด ยิ่งในวันสำคัญของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ก็มีการจัดประกอบพิธีเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ
“ศาสนธรรม” จัดมีการฝึกบำเพ็ญครบถ้วน นับตั้งแต่การศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม และมีการแสดงธรรมอยู่เสมอ
จึงกล่าวได้ว่า “วัดธัมมธโร” ของท่านสาธุชนทั้งหลายในปัจจุบัน มีผลเป็นกำไรที่สังเกตได้ไม่น้อยทีเดียว
และถ้าท่านพุทธศาสนิกชนทั้งปวง ทั้งท่านที่อยู่สำนักและผู้ที่เป็นอาคันตุกะจะไม่ลืมความหมายของ “วัด” อีกประการหนึ่ง กล่าวคือการตั้งใจ “ตวัด” พวกกิเลสตัณหา มานะทิฏฐิ ออกไปให้เต็มสติกำลังอยู่เสมอแล้ว ก็ย่อมจะได้ชื่อลือนามทั้งภายนอกและคุณธรรมภายใน สมตามความหมายของคำว่า “ธัมมธโร” ความเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งธรรม อย่างแท้จริงตลอดไป
ขออานุภาพคุณพระศรีรัตนตรัย อันเป็นอดิศัยบุญเขต และกุศลเจตนาช่วยส่งเสริมอุปถัมภ์บำรุงของท่านสาธุชนทั้งหลาย จงมีส่วนช่วยให้ “วัดธัมมธโร” แห่งนครหลวงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลียนี้ จงสถิตสถาพร ช่วยเชิดชูพระบวรพระพุทธศาสนา ให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นตลอดกาลนาน เทอญ.

*********


Online: 5 Visits: 9,620,557 Today: 1,226 PageView/Month: 40,621